---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------1199640276
 
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งอยู่ในทำเลกลางเมืองเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโคราช  อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หันหน้าไปทาง ด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร  ภายในบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมของชาวโคราช  ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ สร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงและยกย่องคุณงามความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศท้าวสุรนารี  หรือย่าโมที่ชาวโคราช เรียกขานกันอย่างคุ้นเคยท่านเป็นวีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง  จึงเป็น บุคคลที่ชาวโคราช ภาคภูมิใจและเคารพบูชา ย่าโมกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวโคราชกระทั่งเรียกชื่อจังหวัดนี้ว่า  "เมืองย่าโม"
ชาวโคราชมักจะมาบนบานศาลกล่าวขอสิ่งต่างๆจากย่าโม  เช่นขอให้มีงานทำ ขอให้มีลูก เมื่อสมประสงค์แล้วก็จะแก้บน ด้วยสิ่งของ ที่กล่าวไว้  โดยเฉพาะการบนด้วยสิ่งที่ย่าโมโปรดปรานคือ เพลงโคราช  ซึ่งเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  ย่าโมโปรดปรานเพลงโคราช มากที่สุดเพลงโคราชถือเป็นเพลงพื้นเมืองที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ที่ต้องอาศัยไหวพริบ ปฏิภาณของผู้เล่น เพลงโคราช มีท่วงทำนองการขับร้อง  สัมผัสเป็นภาษาพื้นบ้าน (ไทยโคราช) และลีลาท่ารำประกอบทั้งรำช้าและรำเร็ว  ที่สำคัญคือ เพลงโคราช ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบในการเล่น  เนื้อหาของเพลงโคราชขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น  และบางครั้งก็แล้วแต่เจ้าภาพที่หา เพลงโคราช ไปเล่นเป็นผู้กำหนดว่าจะให้เล่นเรื่องอะไร  ถือว่าเพลงโคราชเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนให้ เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของผู้คนให้อนุชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์และสืบสานกันต่อไป  เวลาประชาชนมาบนบานศาลกล่าวจึงมักบน ด้วยเพลงโคราช จากฝีปากพ่อเพลงแม่เพลงโคราช  บริเวณศาลาไม้หลังย่อมใกล้ ๆ อนุสาวรีย์  ย่านอนุสาวรีย์ย่าโม  จึงกลายเป็น ย่านธุรกิจที่คึกคัก มีทั้งโรงแรมที่พัก รัานอาหาร  ตลาดขายของที่ระลึกไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือของกินยี่ห้อดังที่ติดป้าย ชวนชิมของ นักชิมมืออาชีพตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูชุมพลในทุกปี ในช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของ ท้าวสุรนารีขึ้นเพื่อรำลึกถึง ความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น  โดยมีการบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พิธีจุดพลุสี่มุมเมือง  ซึ่งมีการเริ่มต้นครั้งแรกในปพ.ศ.2477 นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม  การออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการและเอกชน  รวมทั้งกิจกรรมบันเทิง ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อมาโคราช  คือต้องลอดซุ้มประตูชุมพลที่อยู่หลังอนุสาวรีย์ เชื่อกันว่าหาลอดประตูนี้ 1  ครั้ง  จะได้กลับ มาโคราชอีกในไม่ช้า ถ้าลอด 2 ครั้งจะได้ทำงานหรือมาอยู่ที่โคราช แต่ถ้าลอดถึง 3  ครั้งก็จะได้คู่ครองเป็นคนโคราช   ประตูชุมพล  ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมืองนครราชสีมามีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพง  มีการสร้าง ประตูเมือง 4 ประตู  โดยปัจจุบันคงเหลือแต่ประตูชุมพลทางทิศตะวันตกของเมืองเท่านั้นที่เป็นประตูเดิม  ส่วนอีกสามประตูคือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตูพลแสนหรือประตูน้ำด้านทิศเหนือ  และประตูชัยณรงค์หรือประตูผีด้านทิศใต้ ได้มีการสร้างขึ้น ใหม่แทนประตูเดิมความพิเศษของประตูชุมพล  คือ ตรงเหนือช่องประตูจะมีเรือนไม้หลังเล็ก ๆ เป็นเรือนแบบไทยมีหลังคามุง กระเบื้อง  ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา เรียกว่า “หอรบ” เอาไว้สำหรับบัญชาการรบ  ส่วนของกำแพงที่ต่อไปทั้งสองข้างส่วนบน ทำเป็น รูปใบเสมา ใต้ใบเสมาเจาะช่องเป็นรูปกากบาท  เพื่อใช้ลอบดูข้าศึกด้านนอก และมีบันไดขึ้นหอรบ  กำแพงเมืองนี้แต่เดิมได้สร้าง ล้อมรอบเมืองโคราชโดย มีคูน้ำคู่ขนานกันไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นปราการอันแข็งแกร่ง  เพื่อปกป้องเมืองโคราชจากข้าศึก ศัตรูมาหลายยุคหลายสมัย

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------